ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวจาก สศท.2/ท้องถิ่น

สศท.2 ร่วมประชุมการเชื่อมโยงเครือข่ายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ครั้งที่ 1/2566

วันศุกร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2566 นายประเสริฐศักดิ์ แสงสัทธา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 (สศท.2 พิษณุโลก) มอบหมายให้ นางธัญญ์พิชชา เถระรัชชานนท์ ผู้อำนวยการส่วนสารสนเทศการเกษตร เข้าร่วมประชุมการเชื่อมโยงเครือข่ายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ครั้งที่ 1/2566 ผ่านระบบ Zoom Meeting จัดโดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 (สสก.6 เชียงใหม่) โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบสถานการณ์การผลิต การตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา และแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาการผลิต การรับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนจากกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ผู้แทนสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย ผู้แทนสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ผู้แทนสมาคมการค้าพืชไร่ ผู้รับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเกษตรกรแกนนำผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ในการประชุมครั้งนี้ นางสาวศิริลักษณ์ กมล ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สสก.6 เป็นประธานการประชุมฯ

สศท.2 เสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนาการผลิต การตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทย ในการประชุมฯ ดังนี้
1) จากเดิมไทยเคยมีข้อเสนอแนะไว้ว่า ควรเป็นhub ทำเมล็ดพันธุ์ โดยส่งเสริมให้เพื่อนบ้านผลิตข้าวโพดป้อนโรงงานแทน เนื่องจากต้นทุนการผลิตข้าวโพดของไทยสูงกว่าประเทศอื่นเกรงว่าจะแข่งขันไม่ได้  แต่ปัจจุบันพบว่า  เกิดปห. PM2.5  ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศและสุขภาพของคนในประเทศไทยอย่างรุนแรง ซึ่งคาดเดาว่ามาจากการแผ้วถางที่ดินเพื่อปลูกข้าวโพดฯ ของเกษตรกรในประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น รัฐบาลไทยควรกำหนด การแก้ปัญหาลพิษทางอากาศในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเป็นวาระแห่งชาติ ด้วยการหารือระหว่างรัฐกับรัฐ(ประเทศเพื่อนบ้าน) รวมทั้งเชิญผู้ประกอบการ หารือร่วม เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว  
2) หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดทนแล้งให้มากขึ้น เช่น นครสวรรค์ 3  นครสวรรค์ 5  จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการกลับมาของปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino)ที่เริ่มต้นขึ้นแล้ว
3) หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมสนับสนุนระบบน้ำชลประทานในช่วงเกิดวิกฤติการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าจะกลับมารุนแรงอีกครั้ง
4) ส่งเสริมแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ในแหล่งผลิตที่มีศักยภาพทั้งเชิงกายภาพ ด้วยใช้แผนที่เกษตรเชิงรุก Agri Map เพี่อเพิ่มปริมาณเมล็ดพันธุ์คุณภาพ ทดแทนการซื้อจากเอกชนเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีไม่เพียงพอและราคาสูงมาก
5) ส่งเสริม สนับสนุนระบบน้ำชลประทานให้เพียงพอ เพื่อเตรียมพร้อมรับภาวะภัยแล้งที่คาดว่าจะประสบปัญหาอย่างแน่นอนในช่วง 1-2 ปีนี้
6) ส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์ หรือส่งเสริมการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน  เพื่อลดต้นทุนการผลิตจากราคาปัจจัยการผลิตสูง  
7) ควรส่งเสริมการใช้ปุ๋ย PGPR (Plant Growth Promoting Rhizobacteria) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (ผลผลิตต่อไร่)
8) ควรส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการ/วิธีการ กำจัดเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่ข้าวโพดฯ ให้เกิดขึ้นจริงอย่างแพร่หลาย และดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในแหล่งผลิตสำคัญหรือแหล่งที่พบปัญหามลพิษทางอากาศ  แม้ว่าจะมีการส่งเสริมบ้างแล้ว โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้ประโยชน์จากData Catalog ของศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีการเกษตร       

ภาพ/ข่าว: คณะทำงานประชาสัมพันธ์ สศท.2


บราวเซอร์ที่รองรับ Chrome (แนะนำ) | Firefox | Exploer 9+ | Safari